มัคคุเทศก์น้อยลานธัมม์ วัดสูงเม่น การเข้าวัดฟังธรรม ดูจะเป็นเรื่องไกลตัว และห่างจากวิถีชีวิตของเด็กๆ ในยุค 4.0 เช่นนี้

แต่ที่วัดสูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ เด็กๆ ที่นี่เต็มใจเข้าวัด ดูแลพระธรรม สนุกสนานกับการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นตนเอง

เมื่อราว 200 กว่าปีที่แล้ว(พ.ศ.2352-2421) ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร หรือครูบามหาเถร แห่งเมืองล้านนา เป็นพระมหาเถระที่แตกฉานในภาษาบาลีและภาษาล้านนา และเป็นพระนักปฏิบัติที่ใช้พระธรรมเชื่อมใจคนล้านนา มิให้มีการรบรากัน แต่เชื่อมความสัมพันธ์ทุกหัวเมืองทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ด้วยการแลกเปลี่ยนความรู้และหนังสือธรรม ท่านมีถิ่นกำเนิดที่ อ.สูงเม่น จ.แพร่ เมื่อท่านรวบรวมคัมภีร์ด้านต่างๆ และพระธรรมคำสอน จากหลวงพระบาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ เชียงราย ตาก ลำปาง และอีกหลายๆ เมืองมาไว้ จัดให้ผู้รู้หนังสือทั้งหลายคัดลอกแจกจ่ายไปยังเมืองสำคัญต่างๆ และได้สร้างหอธรรม หรือหอพระไตรปิฎกเพื่อเก็บรักษาคัมภีร์เหล่านี้ไว้มากมาย เก็บรักษาไว้ได้ดีมาจนถึงปัจจุบัน จากการสำรวจล่าสุด มีคัมภีร์โบราณอยู่ถึง1,084 มัด หรือ 9,693 ผูก วัดสูงเม่นจึงได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีคัมภีร์โบราณมากที่สุดในประเทศไทย

005
008
007

“ อันนี้เป็นคัมภีร์ธรรมเจ้าเมืองเก่านะคะ ซึ่งต้องเป็นเจ้าเมืองเท่านั้นที่จะสามารถสร้างขึ้นมาได้ค่ะถ้าเป็นคนธรรมดาจะไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ค่ะเพราะว่าจะมีการปิดทองแล้วก็เขียนลงในนี้เป็นผูกๆ ค่ะ ซึ่งในแต่ละผูกก็จะมี 20-25 แผ่นของใบลานค่ะ อันนี้เค้าเรียกว่า 1 มัดค่ะ เจ้าเมืองนะคะ จะต้องจ้างคนประมาณสิบกว่าคนค่ะ เพื่อมาเขียนคัมภีร์ใบลาน ซึ่งใช้เงินจำนวนมาก ฉะนั้นคนธรรมดาจึงไม่สามารถทำได้ค่ะ” น้องครีม ด.ญ. -ทิพธัญญา ศรีดี สมาชิกมัคคุเทศก์น้อยลานธรรม แนะนำคัมภีร์โบราณที่ทางวัดได้นำมาจัดแสดง

เด็กๆ โรงเรียนสูงเม่นวิทยาคาร อ.สูงเม่น จ.แพร่ อยู่ใกล้วัดสูงเม่นแหล่งมรดกทางปัญญาที่ทรงคุณค่า โรงเรียน วัด และชุมชน จึงร่วมมือกันทำหลักสูตรให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเข้าวัดและเห็นคุณค่าของพระธรรมคัมภีร์โบราณของชุมชนตนเอง กิจกรรมที่ทางวัดจัดขึ้นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ก็จะมีการต้มใบลาน จารใบลาน ศึกษาตัวอักษรล้านนาโบราณ ซึ่งเด็กๆ ที่สนใจก็สามารถต่อยอดได้ด้วยการศึกษาให้อ่านออกเขียนได้มากขึ้นจากคัมภีร์โบราณที่มีอยู่มากมายในวัดสูงเม่น

006
004
002

“มัคคุเทศก์น้อยลานธัมม์อย่างพวกผม จะช่วยพระอาจารย์และกรรมการสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานวัดสูงเม่น นำคัมภีร์เก่าออกมาถ่ายรูปและทำเป็นคิวอาร์โค้ดครับ เก็บเป็นฐานข้อมูล ต่อไปเวลาใครจะดูก็ใช้มือถือสแกนคิวร์อาร์โค้ดได้เลย ก็จะเห็นภาพด้านใน โดยไม่ต้องแกะผ้าห่อธรรมออกให้คัมภีร์เสียหายครับ” น้องดีโด้

ด.ช. แทนไท ผ่องผิว กล่าวถึงกิจกรรมที่ช่วยกันทำเป็นประจำ

พระธรรมคัมภีร์โบราณที่อายุมากกว่า 200 ปี แต่กลับเก็บรักษาไว้ได้เป็นอย่างดี เพราะภูมิปัญญาของคนโบราณ และประเพณีที่ช่วยรักษาคัมภีร์เก่าเหล่านี้ไว้ได้

“จิตรกรรมฝาผนังที่หอฟ้า ที่เห็นอยู่นี่นะคะ ก็คือประเพณีที่มีชื่อว่าตากธรรม ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้าค่ะ ซึ่งจะจัดประมาณเดือนธันวาคมหรือมกราคมของทุกปีนะคะ เกิดจากการที่ครูบากาญจนาอรัญญวาสีมหา-เถร ท่านเป็นผู้รวบรวมคัมภีร์จากหลายที่หลายแดนไว้ที่ตัวท่านเองค่ะ แล้วเนื่องจากคัมภีร์บางเล่มมีอายุราวเกือบ 500 ปี ท่านจึงได้คิดค้นประเพณีนี้ขึ้นมาเพื่อจะได้อนุรักษ์คัมภีร์ใบลานให้มีอายุมากที่สุดค่ะ อย่างที่สองเนื่องจากเพื่อจะบรรลุเป้าหมายเพื่อจะรักษาคัมภีร์ไว้ให้มีอายุถึง 5,000 ปี และประเพณีนี้นะคะ จะจัดแค่ 1 ปี มีแค่ครั้งเดียว และก็มีที่เดียวในโลกที่วัดสูงเม่นด้วยค่ะ”น้องครีม ด.ญ.ทิพธัญญา ศรีดี เล่าถึงประเพณีของบ้านตัวเองอย่างภูมิใจ

หากใครอยากรู้ว่าเวียนธรรม 3 หอคืออะไร หรืออยากเห็นคัมภีร์โบราณของวัดสูงเม่นสามารถเข้าไปขอเข้าชมได้ทุกวัน วันธรรมดาจะมีคุณแม่จิตอาสาให้คำแนะนำเรื่องคัมภีร์โบราณและการห่อพระธรรมให้กับผู้สนใจ ในวันหยุดเด็กๆ มัคคุเทศก์น้อยลานธัมม์ จะมาคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวและพาชมหอเก็บพระธรรมที่สำคัญ 3 หลังของวัดสูงเม่น

อยากรู้ว่ากิจกรรมลานธัมม์ วัดสูงเม่น นำใจเด็กๆ ให้รักในสมบัติของท้องถิ่นและภูมิใจในเอกลักษณ์ของชุมชนได้อย่างไร คัมภีร์โบราณล้ำค่า เมื่อติดคิวอาร์โค้ดแล้วจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในรายการทุ่งแสงตะวันตอน “ลานธัมม์” วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม นี้ เวลา 6.25 น. ทางช่อง 3 ช่อง 33 อย่าพลาดชม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *